หลักการเลือกซื้อ กล้องส่องทางไกล กล้องสองตา
1: ระบบปริซึมแบบ Roof หรือ Porro
กล้องสองตามี 2 องค์ประกอบหลักๆที่ทำหน้าที่ส่งผ่านแสงโดยตรง คือเลนส์และกระจกปริซึม (prism)กระจกปริซึมถูกใช้เพื่อเปลี่ยนทิศทางของแสงภายในตัวกล้อง ระบบปริซึมแบบ roof จะมีขนาดเล็กกว่าแบบ porro แต่การผลิตให้ได้กล้องระบบ roof ที่สมบูรณ์ทำได้ยากกว่าระบบ porroเนื่องจากระบบปริซึม roof มีความซับซ้อนสูงกว่า จึงมีค่าการผลิตที่สูงกว่า ดังนั้นในอัตราขยายและขนาดหน้ากล้องที่เท่ากัน (เช่น 8×50) กล้องสองตาแบบ roof จึงมีขนาดเล็กและราคาสูงกว่ากล้องระบบปริซึมแบบ porro
2: วัสดุของกระจกปริซึม BaK-4 และ BK-7
กระจกปริซึมที่ทำจาก BaK-4 (กระจก barium crown) จะมีคุณสมบัติทางแสงที่ดีกว่า BK-7 (borosilicate) เนื่องจากกระจก BaK-4 สามารถส่งผ่านแสงที่เข้ามาได้ทั้งหมดจากประกฎการณ์ทางแสงที่เรียกว่า total internal reflection จึงให้ภาพที่สว่างกว่าและคมกว่าแบบ BK-7
3. กำลังขยาย (Power)
กล้องสองตาทั่วไป จะบอกประเภทของกล้อง โดยใช้ตัวเลข 2 ชุด เช่น 7×50 หรือ 8×35 เป็นต้น ตัวเลขตัวแรก หมายถึง กำลังขยายของกล้องสองตา (Magnifying Power) เช่น 7x หมายถึง กำลังขยาย เท่ากับ 7 เท่า เป็นต้น ในขณะที่ตัวเลขชุดหลัง หมายถึง ขนาดของเส้นศูนย์กลาง ของเลนส์วัตถุ (Objective lens) หรือเลนส์หน้า หน่วยเป็น มิลลิเมตร (mm)
4: ขนาดหน้ากล้อง (Objective Lens diameter)
หน้ากล้องยิ่งมีขนาดใหญ่เท่าไหร่ กล้องก็ยิ่งสามารถเก็บแสงได้มากเท่านั้น ผลคือภาพของวัตถุที่สว่างและชัดขึ้น ทำให้การเห็นวัตถุที่มืด เช่นการส่องดูกลุ่มดาวตอนกลางคืนทำได้ง่ายขึ้น แต่หน้ากล้องยิ่งใหญ่ขึ้นเท่าไหร่ ขนาดและน้ำหนักของกล้องก็มักจะใหญ่ขึ้นเท่านั้น ผู้ใช้จึงควรคำนึงความคล่องตัวที่ยอมรับได้เมื่อเลือกกล้องสองตาที่ใหญ่ขึ้น
5: ขนาดลำแสงที่ออกจากกล้อง (Exit Pupil)
โดยทั่วไปแล้ว ขนาดหน้ากล้องยิ่งใหญ่มักจะช่วยให้มองเห็นวัตถุได้สว่างขึ้น แต่สำหรับกล้องสองตาแล้วข้อสันนิษฐานนี้อาจไม่เป็นจริงเสมอไป เพราะผู้ใช้ยังต้องพิจารณาถึงลำแสงที่ออกจากกล้องที่เรียกว่า exit pupil ว่าเข้ากับขนาดม่านตาของผู้ใช้กล้องหรือไม่ โดยทั่วไปแล้ว ม่านตาของคนปกติจะอยู่ระหว่าง 2.5 มม.ในที่สว่างจ้าถึง 7 มม.ในที่มืดสนิด ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยเช่นอายุด้วย สำหรับผู้มีอายุเกิน 60 ปีม่านตาอาจขยายได้มากสุดที่ 5 มม. ส่วนเวลาใช้งานตอนกลางวันม่านตาอาจจะเล็กลงเมื่อปรับสภาพแล้ว Exit pupil ของกล้องสองตาจึงควรมีขนาดใกล้เคียงกับขนาดของม่านตาผู้ใช้ในขณะที่ใช้งานด้วยด้วย
เราสามารถทราบขนาด exit pupil ของกล้องสองตาโดยนำขนาดหน้าเลนส์มาหารขนาดกำลังขยาย เช่นกล้อง 10×50 จะมีค่า exit pupil ที่ 50/10 = 5 มม. ถ้า exit pupil ใหญ่เกินขนาดม่านตาของผู้ใช้ แปลว่ามีแสงบางส่วนที่ถูกเก็บมาแต่ไม่ได้เข้าม่านตาผู้ใช้ จึงเสมือน”สิ้นเปลือง”แสงเพราะจะมองเห็นความสว่างเสมือนกับได้ใช้กล้องที่มีขนาดเล็กกว่าเท่านั้น ถ้า exit pupil เล็กกว่าม่านม่านตาของผู้ใช้มาก มักบ่งบอกถึงอัตราขยายของกล้องที่สูงเกินระดับแสงที่เก็บได้ ซึ่งอาจได้ภาพที่มืดเกินจะฟอกัสได้ครับ ในกรณีที่เป็นการใช้งานในสภาพที่แดดจัดเป็นหลัก exit pupil ที่เล็กมักไม่เป็นปัญหา เนื่องจากความสว่างของวัตถุมักมากพอสำหรับการมองเห็นครับ
6: Eye Relief
เป็นระยะที่กล้องต้องห่างออกจากตาเพื่อให้เห็นภาพของกล้องได้ครบถ้วน สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใส่แว่นในขณะส่องกล้องควรเลือกกล้องที่มี eye relief อย่างน้อย 13-15 มม ขึ้นไป
7. การเคลือบเลนส์ (Coating Lens)
เลนส์ส่วนมาก จะถูกเคลือบผิวของเลนส์ไว้ เพื่อลดอัตราการสะท้อนของแสง เพื่อให้แสงผ่านทะลุเลนส์ ให้ได้มากที่สุด เลนส์ที่ไม่เคลือบ แสงจะสะท้อนหายไป ประมาณ 10% ในขณะที่แสงจะผ่านไปได้ประมาณ 90% ส่วนเลนส์ที่เคลือบทั่วไป จะมีสีม่วงฟ้า เพราะมักเคลือบด้วย Magnesium Fluoride (MgF2) ซึ่งจะลดการสะท้อนของแสงได้ เหลือประมาณ 4% ในขณะที่เลนส์ที่เคลือบมัลติโค้ท (Multi-coated) สามารถลดการสะท้อน ทำให้แสงผ่านได้ถึง 99%
8: ที่ปรับสายตา (Diopter adjustment)
สำหรับผู้ที่สายตาสั้นสองขัางไม่เท่ากันและต้องการใช้งานกล้องสองตาโดยไม่ใส่แว่นสายตา จะพบว่าเมื่อภาพด้านหนึ่งฟอกัสชัดแล้วภาพอีกด้านนึงจะไม่ชัด เนื่องจากสายตาที่ไม่เท่ากัน ผู้ใช้สามารถแก้ปัญหาได้โดยการใส่แว่นสายตาก่อนส่องกล้องสองตา หรือไม่ก็ต้องเลือกกล้องสองตาที่มีที่ปรับ diopter adjustment ซึ่งมักเป็นที่ปรับที่อยู่ตาขวาของกล้องสองตา เพื่อปรับให้ตาขวาเสมือนมีสายตาที่เท่ากับตาซ้าย เวลาฟอกัสภาพก็จะชัดเท่าๆกันทั้งสองด้าน
9: ที่ยึดขาตั้ง (tripod adaptable threads)
สำหรับกล้องสองตาที่มีอัตราการขยายมากกว่า 7-10 เท่า การใช้มือถือกล้องมักจะได้ภาพที่ไม่นิ่งพอ จึงจำเป็นต้องหาวิธีลดการเคลื่อนไหวของกล้องขณะใช้งาน กล้องขนาด 7×50 ขึ้นไปควรมีที่ยึดกับขาตั้งกล้อง (tripod adaptable)
10 การปรับโฟกัส (Focusing)
กล้องสองตาส่วนใหญ่ จะปรับโฟกัสได้ ที่ตรงกลางของกล้องสองตา (Center-focus) ซึ่งใช้สำหรับปรับภาพให้เห็นภาพได้ชัด แล้วจึงปรับที่เลนส์ตาขวาอีกครั้ง เพื่อแก้ไขภาพที่ตาทั้งสองข้าง อาจมองเห็นชัดไม่เท่ากัน แต่ส่วนมาก ที่ปรับภาพตรงกลาง มักไม่ได้ใช้สำหรับการดูดาว เนื่องจาก ผู้ดูดาว ต้องปรับภาพให้ระยะโฟกัส เป็นระยะอนันต์ (Infinity) อยู่แล้ว ดังนั้น การเลือกล้องสองตา ที่มีกลไกการโฟกัสซับซ้อน หรือยุ่งยาก อาจทำให้เสียเงินเพิ่มโดยไม่จำเป็น